วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

หมูภูพาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสให้ไว้เมื่อครั้งเสด็จฯไปทรงตรวจเยี่ยม....ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ว่า...
“หมูที่นำมาส่งเสริมต้องเป็นหมูที่เลี้ยงง่าย กินง่ายใช้อาหารตามธรรมชาติ ที่มีต้นทุนไม่สูงนัก”
เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้ รับการสนับสนุนลูกพันธุ์จากศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานฯ จึงมีความต้องการสุกรที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสข้างต้น... ซึ่งทางศูนย์ก็จัดให้...
น.สพ.วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บอกว่า...ในอดีตศูนย์ได้ส่งเสริมให้ เลี้ยงเฉพาะ หมูสายพันธุ์เหมยซาน เท่านั้น เนื่องจากเลี้ยงง่าย กินง่าย อยู่ง่าย ไม่ต้องมีการจัดการอะไรเป็นพิเศษและใช้ระยะเวลาเลี้ยงแค่ 1-2 เดือน ก็สามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวผู้เลี้ยง...แถมให้ลูกดกครอกละ 18 ถึง 20 ตัว
แต่หมูเหมยซานมีข้อด้อยอยู่ตรงที่เวลาเลี้ยงให้โตเต็มที่จะมีไขมันมากและปริมาณเนื้อน้อย อีกทั้งใบหูใหญ่ เมื่อนำไปทำหมูย่างหรือหมูหันแล้ว.... ไฟจะไหม้ใบหูก่อนส่วนอื่นๆไม่เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภค
จุดบกพร่องเหล่านี้ ทีมงานจึงได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ให้ได้พันธุ์ตรงตามความต้องการของผู้เลี้ยง คือ...เลี้ยงง่าย โตเร็ว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ทนทานต่อโรค ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ตัวกะทัดรัด ใบหูไม่ใหญ่จนเกินไป...เมื่อนำไปขุนให้เนื้อแดงมากกว่าไขมัน
เริ่มด้วยการคัดเลือกคุณสมบัติสุกรจาก 3 สายพันธุ์มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ประกอบด้วย เหมยซาน ที่มีลักษณะเด่นคือ ให้ลูกดก เลี้ยงลูกเก่ง ปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยงได้ดีกับ พันธุ์พื้นเมืองสกลนคร (หมูกี้) เป็นหมูขนาดลำตัวกะทัดรัด ทนต่อโรค มีใบหูเล็กและ ดูร็อคเจอร์ซี่ มีลักษณะเด่นที่ลำตัวยาว ให้ปริมาณเนื้อแดงมากไขมันต่ำ เมื่อวางแผนการผลิตโดยการนำหมูกี้พันธุ์พื้นเมืองผสมกับเหมยซาน ได้ลูกเป็นรุ่น F1 แต่ยังมีไขมันสูง จึงเอาดูร็อคเจอร์ซี่ที่มีสีน้ำตาลแดงใส่เข้าไป จากนั้นก็ออกมาเป็นลูกรุ่น F2 มีสีน้ำตาลดำเมื่อคำนวณสายพันธุ์ กลายเป็น ดูร็อคเจอร์ซี่ 50% หมูกี้ 25% และ เหมยซาน 25% ได้ทดลองขุนผลปรากฏออกมาว่า ได้เปอร์เซ็นต์ซากดีกว่าหมูเหมยซานถึง 100%...แต่ต้นทุนในการเลี้ยงกับราคาขายเทียบกันแล้วไม่มีกำไร จึงไม่ เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์หรือประกอบเป็นอาชีพ
จึงได้นำสายพันธุ์ F2 มาปรับ ปรุงให้ทุกสายเลือดสูงขึ้นทั้ง 3 สายพันธุ์ กลายเป็นรุ่น F3 ในรุ่นนี้ สายเลือดดูร็อคเจอร์ซี่สูงประมาณ 62.5% ทุกอย่างเข้าล็อกหมด เช่น ได้ลูกดกถึง 17 ตัว ใบหูเล็ก ลำตัวสันทัด ตัวยาว หลังยาว เนื้อสันในและสันนอกก็ใช้ได้หมด แต่ ปรากฏปัญหาตรงที่เมื่อนำไปขุน จะมีผิวหนังสีดำทำให้พ่อค้าไม่ต้องการ
หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เผยต่อว่า ความพยายามก็ไม่ได้หยุดลง แต่ได้นำ สายพันธุ์ ลาร์จไวท์ แลนเรซ เข้ามาผสมและพยายามให้พันธุ์ ดูร็อคเจอร์ซี่ มีเลือดอยู่ 62.5 ส่วนที่เหลือ 37.5 เป็น สายพันธุ์หมูกี้กับเหมยซาน กลายเป็นหมูรุ่น F4
... รุ่น F4 นี้จะได้ หมูออกมา 2 กลุ่ม คือ ภูพาน 1 กับ ภูพาน 2 ที่มีทั้ง สีดำ และ สีขาว...เมื่อ ต้องการให้เป็นสีอะไรก็สามารถที่จะผสมใหม่ตามความต้องการของชาวบ้านได้
...นอกจากนี้ ยังมีการส่งลูกพันธุ์หมูภูพานไปเลี้ยงทดสอบแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นส่งให้ ชาวกะเหรี่ยงเลี้ยงที่จังหวัดเลย และส่งไปให้ เกษตรกรชาวใต้ เลี้ยงที่ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่าหมูภูพานสีดำเป็นที่ชื่นชอบกันมาก... ปัจจุบันได้จดสิทธิบัตรสุกรสายพันธุ์ใหม่นี้ ให้มีชื่อเป็นทางการว่า...สุกรสายพันธุ์ภูพาน
...หากเกษตรกรท่านใด สนใจอยากจะเลี้ยง “หมูภูพาน” ติดต่อขอข้อมูลและสายพันธุ์ได้ที่ น.สพ.วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร โทร.08-1965-3468 ในวันและเวลาราชการ.

ไม่มีความคิดเห็น: